ธรรมบรรยายวันที่ 9

การประยุกต์เทคนิคมาใช้ในชีวิตประจําวัน--บารมี 10

เวลาได้ผ่านไป 9 วันแล้ว ต่อไปนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่อง การนําเทคนิคนี้ไปใช้ในชีวิตประจําวัน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สําคัญที่สุด เพราะแท้จริงแล้วธรรมะคือศิลปะในการดํารงชีวิต ถ้าท่านไม่อาจนําเอาธรรมะไปใชในชีวิตประจําวันของท่านได้ การเข้ามาฝึกอบรมครั้งนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการไปเข้าพิธีกรรมทั่วๆ ไป

เราทุกคนต่างก็เคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์อันไม่พึงปรารถนาในชีวิตกันมาแล้วทั้งนั้น เมื่อไรก็ตามที่เราได้พบกับสิ่งที่เราไม่ต้องการ จิตเราก็เริ่มจะเสียความสมดุลไป และเราจะเริ่มมองโลกในแง่ร้าย ซึ่งเมื่อไรที่เกิดความรู้สึกด้านร้ายขึ้นในจิตใจ ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น เราควรจะทําอย่างไรจึงจะหยุดสร้างความรู้สึกในด้านร้าย หยุดสร้างความเครียดให้กับตนเอง ทําอย่างไรเราจึงจะมีแต่ความสงบสุขอันสอดคล้องกลมกลืน

นักปราชญ์บางท่านได้พยายามคิดค้นหาทางแก้ปํญหา และได้พบว่า วิธีแก้ปัญหาในขณะที่เกิดทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุไร ก็คือให้หันเหความสนใจไปเสียที่อื่น เช่น อาจจะลุกขึ้นดื่มน้ํา นับตัวเลข หรือท่องพระนาม หรือนามของเทพ หรือนักบุญ ผู้ใดผู้หนึ่งที่ตนเองนับถือศรัทธา การหันเหความสนใจไปในทางอื่นเสียเช่นนี้ ก็เพื่อจะทําให้เราพ้นจากความทุกข์นั้นไปได้

วิธีแก้ไขที่กล่าวมานี้ก็นับว่าพอจะใช้ได้ แต่มีปราชญ์คนอื่นๆ ที่ได้พยายามค้นคว้าหาความจริงให้ลึกลงไปถึงส่วนที่ลึกที่สุดของจิตเพื่อค้นหาวิธีที่ดีกว่านี้ ผู้มีปัญญาเหล่านี้ได้พบว่า การหันเหความสนใจไปสู่ที่อื่นนั้น ก็เปรียบเสมือนเราได้สร้างเกราะกําบังขึ้นมาครอบคลุมจิตสํานึกเอาไว้เท่านั้น เป็นการระงับความเดือดเนื้อร้อนใจได้แต่เพียงชั่วคราว มิใช่เป็นการขจัดความทุกข์ออกไปย่างสิ้นเชิง เพราะลึกลงไปภายในจิตไร้สํานึกของเรานั้น ความเดือดร้อนนี้จะยังคงอยู่ และจะเพิ่มพูนมากขึ้นทุกที สักวันหนึ่งภูเขาไฟแห่งความไม่พอใจก็จะระเบิดขึ้น และเข้ามามีอํานาจเหนือจิตใจของเรา ตราบใดที่ความทุกข์ยังคงอยู่ แม้จะถูกฝังไว้ในระดับจิตไร้สํานึกหรือภวังคจิตการแก้ปัญหาก็ทําได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ ไม่ถาวร

ผู้บรรลุธรรมแล้วมีวิธีแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ด้วยการไม่หนีปัญหา และด้วยการเผชิญหน้ากับมัน โดยเฝ้าสังเกตดูกิเลสที่ผุดขึ้นในใจ ซึ่งการสังเกตนี้เท่ากับว่าเราไม่ไปเก็บกดมันไว้ และเราก็ไม่ปล่อยให้มันแผลงฤทธิ์ตามสบายด้วยการกระทําอันรุนแรง ไม่ว่าจะทางกายหรือวาจา หากแต่เป็นการเดินสายกลาง นั่นคือการสงบใจเฝ้าสังเกตดู เมื่อใดที่เราเริ่มสังเกตมัน สิ่งปรุงแต่งนั้นก็จะหมดฤทธิ์และดับไปเอง โดยไม่อาจมามีอํานาจเหนือจิตใจเรา นอกจากนี้เมื่อกิเลสก่อตัวขึ้นในระดับจิตสํานึก กิเลสหรือการปรุงแต่งเก่าๆ ชนิดเดียวกันที่ซ่อนเร้นอยู่ในก้นบึ้งของจิตไร้สํานึก ก็จะผุดขึ้นมาเชื่อมโยงกับกิเลสใหม่โดยทันที และจะเริ่มแตกหน่อแตกกอเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าเราได้มีโอกาสสังเกตดูมันด้วยอุเบกขา ไม่เพียงแต่กิเลสที่กําลังเกิดขึ้นจะถูกขจัดไปเท่านั้น หากแต่กิเลสเก่าบางส่วนก็ถูกขจัดไปด้วย โดยวิธีนี้ไม่ช้ากิเลสทั้งหลายก็จะถูกขจัดออกไปจนหมด แล้วเราก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

แต่สําหรับคนทั่วไปนั้น ไม่เป็นการง่ายเลยที่จะสังเกตดูกิเลสที่อยู่ในจิตใจ เรามักไม่รู้ตัวว่ากิเลสเกิดขึ้นเมื่อใด และไม่รู้ถึงวิธีการที่มันเข้ามามีอํานาจครอบงําจิตใจเรา เมื่อกิเลสเข้ามาครอบงําจิตสํานึกแล้ว มันจะมีกําลังเกินกว่าที่เราจะเพียงแค่สังเกตมันด้วยความสงบ แต่เรามักอดไม่ได้ที่จะมีปฏิกิริยาโต้ตอบมัน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะสังเกตกิเลส ซึ่งเป็นเพียงนามธรรม เช่น ความโกรธ ความกลัว หรือความหลงเป็นต้น เรามักจะหันไปทําปฏิกิริยากับสิ่งภายนอกที่เป็นตัวเร่งให้เกิดกิเลสนั้นๆเสียมากกว่า ซึ่งกลับจะเป็นการทําให้กิเลสเพิ่มมากขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตามท่านผู้บรรลุธรรมทั้งหลายได้พบว่า เมื่อไร ที่มีกิเลสเกิดขึ้นในจิตใจ ก็จะมีปรากฏการณ์ 2 ชนิดเกิดขึ้นใน ร่างกายพร้อมๆกัน นั่นคือลมหายใจจะผิดปกติไป และปฏิกิริยา ทางชีวเคมีก็จะเกิดขึ้นในร่างกายในรูปของความรู้สึก ดังนั้นวิธี การแก้ความยากลําบากในการสังเกตดูกิเลสซึ่งเป็นนามธรรมก็ คือ ให้สังเกตลมหายใจ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกาย ทั้งสอง สิ่งนี้เป็นลักษณะทางกายภาพที่กิเลสจะปรากฏออกมาให้เห็น การที่เราได้สังเกตดูกิเลสที่ปรากฏออกมาทางกายนี้ ก็เท่ากับเรา ปล่อยกิเลสให้เกิดขึ้นและดับไปเองโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย ใดๆ เราก็จะเป็นอิสระจากกิเลสเหล่านั้น

การที่จะปฏิบัติตามวิธีการดังกล่าวนี้ให้ชํานาญจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่เมื่อเราได้ฝึกไปเรื่อยๆ เราจะค่อยๆพบว่าเหตุการณ์ภายนอกที่เคยทําให้เรามีปฏิกิริยาตอบโต้ในทางลบนั้น บัดนี้เราสามารถวางเฉยได้ หรือหากเราจะมีปฏิกิริยาบ้างก็ไม่รุนแรงหรือยืดเยื้อดังแต่ก่อน แล้ววันหนึ่งเราก็จะพบว่า แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยั่วยุอย่างยิ่ง เราก็ยังสามารถรับรู้สัญญาณการเตือนสติจากลมหายใจและความรู้สึกทางกาย และมีโอกาสได้หยุดสังเกตดูมัน แม้จะชั่วระยะเดียวก็ตาม ซึ่งการได้หยุดสังเกตดูตัวเองชั่วระยะสั้นๆ เช่นนี้ จะเป็นเสมือนหนึ่งกันชนคอยกั้นระหว่างสิ่งยั่วยุภายนอกกับการตอบโต้ของเรา ซึ่งแทนที่เราจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างมืดบอด จิตเรากลับสงบ และเราก็ จะสามารถกระทําสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น

การที่ได้เรียนรู้ถึงวิธีสังเกตดูความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน ร่างกายของท่านนี้ เท่ากับว่าท่านได้เริ่มเดินก้าวแรกไปบนหนทาง แห่งการกําจัดกิเลส และเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยของจิตของ ท่านแล้ว

นับตั้งแต่เกิดมา คนเราได้ถูกสอนให้มองออกไปข้างนอก เราไม่เคยมองกลับเข้ามาดูตัวเรา เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถที่ จะไปให้ถึงก้นบึ้งของปัญหาของเราได้ เรามักจะนึกว่าต้นเหตุของ ปัญหาของเรานั้นมาจากคนอื่น และกล่าวโทษผู้อื่นว่าทําให้เรา หมดความสุข เรามักจะดูทุกสิ่งทุกอย่างด้านเดียว ส่วนเดียว ใน มุมแคบๆ ซึ่งภาพที่เห็นก็มักจะบิดเบี้ยวไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่กระนั้นเราก็คิดว่าเราได้เห็นความจริงทั้งหมดแล้ว การ ตัดสินใจที่มีรากฐานมาจากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเช่นนี้ มีแต่จะนํา ความทุกข์มาให้ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น เพื่อให้ได้ภาพรวมตาม ความเป็นจริง เราจําเป็นต้องมองจากหลายๆด้าน และการฝึก วิปัสสนากรรมฐานก็คือการเรียนรู้ที่จะมองสิ่งต่างๆ ตามความ เป็นจริง ไม่เฉพาะแต่ภายนอกเท่านั้น หากรวมทั้งภายในด้วย

การมองอะไรด้านเดียว ทําให้เราคิดว่าความทุกข์ของเรามีสาเหตุมาจากผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ดังนั้นเราจึงทุ่มเทกําลังกายกําลังใจของเราไปในการเปลี่ยนแปลงผู้อื่น หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ภายนอก แท้ที่จริงแล้วเป็นการกระทําที่เปล่าประโยชน์ ถ้าเราเรียนรู้ที่จะสังเกตดูความจริงจากภายในตัวของเราก่อน เราก็จะรู้ว่าเราเองนั่นแหละที่เป็นสาเหตุของความทุกข์หรือความสุขของตัวเรา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราถูกข่มเหงรังแกโดยผู้อื่นและเราเกิดความทุกข์ เราจะกล่าวโทษคนที่ข่มเหงรังแกเราว่าเป็นคนที่ทําให้เราหมดความสุข แต่ความจริงนั้น คนที่รังแกเราเขาก็สร้างความทุกข์ให้กับตัวเขาเอง เพราะเขาได้ปรุงแต่งกิเลสให้เผาผลาญใจของเขาเอง ในขณะที่ผู้ถูกรังแกก็ปรุงแต่งกิเลส ขึ้นในใจตนเหมือนกัน เพราะได้ไปมีปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการข่มเหงรังแกนั้น ดังนั้นคนทุกคนต่างต้องรับผิดชอบกับความทุกข์ของตนเอง อย่าไปมัวโยนความผิดให้ผู้อื่น และเมื่อเราได้รู้แจ้งถึงความจริงข้อนี้แล้ว เราก็จะเลิกโทษคนอื่น

ถ้าเช่นนี้เรามีปฏิกิริยากับอะไรเล่า แท้จริงแล้วเรามีปฏิกิริยากับภาพลักษณ์ที่เราสร้างขึ้นมาเอง ไม่ใช่จากความเป็นจริงภายนอก เช่นเมื่อเราพบใครสักคน ภาพลักษณ์ของคนผู้นั้นจะถูกแต่งเติมระบายสีไปตามสิ่งปรุงแต่งในอดีตของเรา นั่นคือสังขารในอดีตจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเรา ที่มีต่อสิ่งต่างๆ ที่เราได้พบเห็นต่อจากนั้นความรู้สึกในร่างกายก็จะบอกเราว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี และจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ เราก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกนั้นๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง มีสาเหตุมาจากสังขารหรือการปรุงแต่งแต่ดั้งเดิม ถ้าเราสามารถรักษาสติและวางอุเบกขากับความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นลักษณะนิสัยเก่าๆ ที่คอยจะทําปฏิกิริยาตอบโต้โดยอัตโนมัติก็จะค่อยๆ ลดลง และเราก็จะเริ่มเรียนรู้ที่จะมองทุกๆ สิ่งตาม ความเป็นจริง

เมื่อเราสามารถพัฒนาความสามารถในการมองทุกสิ่งจากแง่มุมที่ต่างๆ กันได้แล้ว เมื่อใดก็ตามที่ผู้อื่นประพฤติตนไม่ถูกต้อง เราจะมีความเข้าใจในตัวผู้นั้นว่า เขากําลังมีความทุกข์อยู่ เขาจึงทําตัวเช่นนั้น และด้วยความเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะไม่ทําปฏิกิริยาโต้ตอบในทางไม่ดี หากแต่เราจะเต็มไปด้วยความรู้สึกรักและสงสารต่อผู้ที่กําลังมีความทุกข์ ดุจเดียวกับมารดาที่เป็นห่วงสงสารบุตรที่กําลังเจ็บป่วย ความปรารถนาดีก็จะเกิดขึ้น มีความต้องการที่จะช่วยให้คนผู้นั้นพ้นทุกข์ เช่นนี้เราก็จะมีแต่ความสงบสุข และช่วยให้ผู้อื่นมีความสุขไปด้วย นี่คือจุดประสงค์ของธรรมะ เพื่อฝึกศิลปะในการดําเนินชีวิต โดยการขจัดกิเลสในจิตใจ และทําแต่ความดีเพื่อความสุขทั้งของตนเองและของ ผู้อื่น

ความดีงามทางด้านจิตใจ หรือที่เรียกว่า บารมี นั้นมีอยู่ 10 ประการด้วยกัน ซึ่งเราจะต้องบําเพ็ญเพื่อให้เข้าสู่จุดหมายปลายทาง คือการละตัวตนหรืออัตตา บารมี 10 ประการนี้จะช่วยให้เราค่อยๆ ลดอัตตาลง และนําเราไปสู่ความพ้นทุกข์ การที่ท่านมาเข้าฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน จะทําให้ท่านมีโอกาสได้บําเพ็ญบารมีทั้ง 10 นี้

บารมีแรกคือ เนกขัมมะบารมี หมายถึงการสละชีวิตการครองเรือน พระสงฆ์หรือชีเป็นผู้สละชีวิตผู้ครองเรือน และมีชีวิตอยู่โดยปราศจากข้าวของส่วนตัว แม้แต่อาหารประจําวันก็ต้องขอจากผู้อื่น การทําเช่นนี้ก็ด้วยมีจุดประสงค์ที่จะหลอมละลายอัตตา สําหรับคนธรรมดานั้นจะบําเพ็ญบารมีนี้ได้อย่างไร ในการฝึกกรรมฐานนี้ เรามีโอกาสทําเช่นนั้นได้ ทั้งนี้เพราะที่นี่เรามีชีวิตอยู่ด้วยทานจากผู้อื่น และยอมรับสิ่งที่เขาหยิบยื่นให้ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่ หรือเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เท่ากับเราได้เริ่มบําเพ็ญเนกขัมมะบารมีแล้ว ไม่ว่าสิ่งใดที่เขาหยิบให้ เราก็จะใช้ประโยชน์ให้ดีที่สุด ทําความเพียรให้มากที่สุด เพื่อขจัดกิเลสให้หมดสิ้นจากจิตใจ มิใช่แต่เพียงเพื่อความดีงามของตนเท่านั้น หากแต่ยังเพื่อความดีงามของผู้ที่ได้เสียสละให้ทานแก่เรา

บารมีที่สองคือ ศีลบารมี หมายถึงความมีศีลธรรม เราพยายามพัฒนาบารมีข้อนี้ ด้วยการรักษาศีล 5 ตลอดเวลา ไม่ว่าในระหว่างการฝึกอบรมนี้ หรือในชีวิตประจําวัน สําหรับการใช้ชีวิตอย่างชาวโลกนั้น เราอาจพบความยากลําบากในการรักษาศีล 5 อยู่บ้าง แต่ในการอบรมกรรมฐานนี้ เราจะไม่มีโอกาสผิดศีลได้เลย เพราะการอบรมที่หนัก และระเบียบวินัยที่เคร่งครัด จะมีเรื่องทําให้ล่วงศีลได้บ้าง ก็เฉพาะจากการพูดจากัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องทําการปฏิญาณที่จะไม่พูดจาเลยตลอดเวลา 9 วัน ของการฝึกอบรม โดยวิธีนี้อย่างน้อยท่านก็สามารถรักษาศีลไว้ได้เป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม

บารมีที่สามคือ วิริยะบารมี หมายถึงความเพียร ใน ชีวิตประจําวันเราก็ทําความเพียร เช่น การทํามาหากิน แต่ที่นี่ เราบําเพ็ญเพียรเพื่อทําจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการรักษาสติและวาง อุเบกขา นี่คือความเพียรชอบที่จะนําเราให้หลุดพ้นจากความทุกข์

บารมีที่สี่คือ ปัญญาบารมี หมายถึงความรอบรู้ ใน โลกภายนอกเราอาจจะมีความรู้ หรือมีปัญญา ซึ่งมักจะเป็นปัญญาที่เราได้จากการอ่านหนังสือ หรือการฟังผู้อื่น ซึ่งเป็น สุตมยปํญญา  หรือเกิดจากความคิดอ่าน ความเข้าใจของเราเอง ซึ่งเป็น จินตามยปัญญา แต่ปัญญาบารมี คือความรู้ความเข้าใจที่เราได้รับจากภายในตัวเราเอง ซึ่งเป็น ภาวนามยปัญญา จากประสบการณ์ในการทํากรรมฐาน เรารู้ได้ด้วยตนเองถึงความ ไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ของความทุกข์ และความไม่มีตัวตน ด้วยประสบการณ์โดยตรงที่เราได้รับจากการสังเกตดูความรู้สึกภายในตัวเองนี้ จะทําให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

บารมีที่ห้าคือ ขันติบารมี หมายถึงความอดทน ในการเข้ามารับการฝึกอบรมเช่นนี้ เราต้องอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก เราอาจพบว่า เรารู้สึกเบื่อหน่ายรําคาญต่อพฤติกรรมของบุคคลอื่นแต่ไม่ช้าเราก็อาจจะรู้ว่าคนที่ทําความรําคาญให้เรานั้น ความจริงแล้วเป็นคนโง่เขลาจนไม่รู้ว่าตัวเองกําลังทําอะไรอยู่ หรืออาจจะเป็นคนเจ็บป่วยทางใจ ซึ่งจะทําให้เราหมดความรําคาญ และกลับมีแต่ความรัก ความเห็นใจให้กับบุคคลผู้นั้น ซึ่งเท่ากับเราได้เริ่มพัฒนาขันติบารมีของเราแล้ว

บารมีที่หกคือ สัจจะบารมี หมายถึงความจริง ด้วย การรักษาศีลเท่ากับว่าเราได้รักษาสัจจะทางวาจาตามที่ได้กล่าวปฏิญาณไว้ แต่ทว่าการรักษาสัจจะนั้นจะต้องรักษาให้ยิ่งขึ้นไปอีกทุกย่างก้าวจะต้องมีแต่ความจริง จากความจริงที่เห็นได้ง่ายชัดเจน ไปจนถึงความเป็นจริงอันละเอียดอ่อน ความเป็นจริงอันสูงสุด โดยไม่มีการใช้จินตนาการเข้ามาแทรก เราต้องอยู่กับความจริงที่เราได้พบในขณะปัจจุบันเท่านั้น

บารมีที่เจ็ดคือ อธิษฐานบารมี หมายถึงความตั้งใจจริง เมื่อเราเริ่มเข้ารับการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐาน เรามีความ ตั้งใจจริงที่จะอยู่ฝึกปฏิบัติจนครบถ้วนตามระยะเวลา เราตั้งใจที่ จะรักษาศีล รักษาความเงียบ ปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหลักสูตร และหลังจากที่ได้รับการสอนในเรื่องเทคนิคของการทําวิปัสสนา กรรมฐาน เรามีความตั้งใจจริงที่จะนั่งภาวนาตลอด 1 ชั่วโมงโดย ไม่ลืมตา ขยับแขนหรือขา และในวาระสุดท้ายบารมีข้อนี้จะ สําคัญมาก เมื่อเราใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง เราต้องพร้อมที่ จะนั่งภาวนาโดยไม่ลุกเลยจนกว่าจะบรรลุธรรม ด้วยเหตุนี้เราจึงจําเป็นที่จะต้องพัฒนาบารมีข้อนี้ของเรา

บารมีที่แปดคือ เมตตาบารมี หมายถึงความรักอัน บริสุทธิ์ที่ไม่มีความเห็นแก่ตัว ในอดีตเราได้พยายามในการที่ จะรู้สึกรักและหวังดีต่อผู้อื่น แต่ก็เป็นเพียงแค่ระดับจิตสํานึก ของเราเท่านั้น แต่ในระดับจิตไร้สํานึกแล้ว ความเครียดเก่าๆ จะยังคงอยู่ เมื่อไรที่เรามีจิตอันบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะสามารถที่จะมีความปรารถนาดี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข ด้วยความรักความเมตตาอันแท้จริง ซึ่งจะเป็นการดีแก่ทั้งผู้อื่นและตนเอง

บารมีที่เก้าคือ อุเบกขาบารมี หมายถึงการวางใจให้ สงบเป็นกลาง เราเรียนรู้ที่จะวางอุเบกขาได้ ไม่เฉพาะแต่ตอนที่เราเกิดความรู้สึกที่ไม่น่ายินดี อันเป็นความรู้สึกหยาบ เช่น ทึบ ปวด ตึง ไม่สุขสบายเท่านั้น แต่เมื่อเรากําลังพบกับความรู้สึกที่น่ายินดี อันเป็นความรู้สึกที่ละเอียด เบาสบาย เราก็สามารถวางเฉยได้เช่นกัน ในทุกๆสถานการณ์ เราจะรู้อยู่เสมอว่า อะไรก็ตามที่เรากําลังได้พบอยู่ย่อมไม่เที่ยงแท้ จะต้องผ่านพ้นไปด้วยความเข้าใจเช่นนี้ จะทําให้เราไม่ยึดติดและวางเฉยได้

บารมีสุดท้ายคือ ทานบารมี หมายถึงการทําบุญให้ ทาน สําหรับคนทั่วไปแล้ว บารมีข้อนี้เป็นก้าวแรกที่สําคัญมากบนหนทางแห่งธรรมะ คนโดยทั่วไปล้วนแต่มีความรับผิดชอบที่จะต้องทํามาหาเลี้ยงชีพด้วยความสุจริต เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว แต่ถ้าเรายังติดยึดอยู่กับทรัพย์สมบัติที่หามาได้ เราก็จะมีแต่ความเห็นแก่ตัว ด้วยเหตุนี้ทรัพย์สินที่หามาได้ จึงต้องมีการบริจาค เพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ถ้าเราทําได้เช่นนี้ ความเห็นแก่ตัวก็จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากเราเข้าใจดีว่า การที่เราหาทรัพย์มาได้นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่นด้วย ความปรารถนาดีก็จะเกิดขึ้น มีความต้องการที่จะช่วยผู้อื่นเท่าที่จะทําได้ และรู้ว่าความช่วยเหลืออื่นใดก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าการช่วยให้คนพบทางพ้นทุกข์

การเข้าอบรมในหลักสูตรเช่นนี้  นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้บําเพ็ญบารมีข้อนี้ สิ่งที่เราได้รับจากที่นี่ เราได้จากการบริจาคของผู้อื่น ที่นี่เราไม่มีการเก็บค่าที่พักและอาหาร หรือ การสอน ฉะนั้นในทํานองเดียวกัน เราเองก็สามารถที่จะบริจาคเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นได้ จํานวนการบริจาคของแต่ละคนจะมากน้อย แตกต่างกันไปตามกําลังความสามารถ เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้มีฐานะก็ย่อมมีกําลังที่จะให้ได้มาก แต่กระนั้นก็ตามทานแม้จํานวนเล็กน้อย หากให้ด้วยความรารถนาดี ก็มีค่าสมควรแก่การบําเพ็ญบารมีข้อนี้ เพราะเป็นการให้โดยมิได้ มุ่งหวังสิ่งตอบแทน เราบริจาคเพื่อผู้อื่นจะได้มีโอกาสลิ้มรสธรรมะ อันอาจชักนําให้เขาได้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้

การเข้าฝึกอบรมหลักสูตรนี้ ทําให้ท่านได้มีโอกาสบําเพ็ญ บารมีทั้ง 10  เมื่อบารมีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ท่านก็จะสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางได้

จงค่อยๆพัฒนาบารมีทั้ง 10 นี้ไปทีละเล็กละน้อย ขอท่านทั้งหลายจงก้าวหน้าไปบนเส้นทางแห่งธรรมะ มิใช่แต่เฉพาะเพื่อความสุขความหลุดพ้นของตัวท่านเอง แต่เพื่อความสุขความเจริญและความหลุดพ้นของคนอื่นๆ ด้วย

ขอให้สรรพสัตว์ผู้มีความทุกข์ทั้งหลาย จงได้พบกับธรรมะอันบริสุทธิ์ และจงหลุดพ้นเถิด

ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุขโดยทั่วหน้ากัน